มลพิษทางอากาศเป็นหนึ่งในสาเหตุสำคัญที่ก่อให้เกิดการเจ็บป่วยและโรคต่าง ๆ ทั่วโลก ระดับมลพิษทางอากาศในหลายประเทศของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ มีค่าสูงกว่าในสหราชอาณาจักรและประเทศในกลุ่มยุโรป สำหรับประเทศไทยมีรายงานความเจ็บป่วยที่เกิดจากโอโซนและอนุภาคฝุ่นขนาดเล็กในชุมชนเมืองมากมายในแต่ละปี มลพิษทางอากาศเหล่านี้ส่วนใหญ่เกิดจากการจราจรที่หนาแน่นบนท้องถนน และโรงงานอุตสาหกรรม สำหรับมลพิษทางอากาศที่รุนแรงและก่อให้เกิดปัญหาทางสุขภาพในประเทศไทย คือ หมอกควันที่จากการเผ่าไหม้ชีวมวลในพื้นที่ โดยเฉพาะในหลายจังหวัดทางภาคเหนือของประเทศ ที่จะได้รับผลกระทบจากมลพิษทางอากาศเป็นอย่างมาก นอกจากนี้ระดับมลพิษทางอากาศในอาคารของประเทศไทยและประเทศอื่น ๆ ในภูมิภาคเดียวกันยังมีค่าสูงกว่าในสหราชอาณาจักร ซึ่งสาเหตุหนึ่งที่สำคัญคือการพัดพาของอากาศภายนอกอาคารเข้ามาภายในอาคาร และยังพบว่าควันบุหรี่ และควันที่เกิดจากการเผาถ่าน และธูป ยังเป็นอีกสาเหตุหนึ่งของมลพิษภายในอาคาร โดยเรื่องนี้เป็นเรื่องที่สำคัญมากสำหรับรัฐบาล ภาคอุตสาหกรรม และผู้มีส่วนได้ส่วนเสียอื่น ๆ ที่จะต้องมีความเข้าใจในเรื่องของ ผลกระทบต่อสุขภาพจากมลพิษทางอากาศทั้งภายในและภายนอกอาคารเป็นอย่างดี โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อพิจารณาจำนวนผู้ป่วยที่เป็นโรคที่เกิดจากมลพิษทางอากาศ และจำนวนผู้เสียชีวิตก่อนวัยอันควรจากมลพิษทางอากาศในแต่ละปีพบว่ามีความเชื่อมโยงกับแหล่งปล่อยมลพิษเป็นหลักดังนั้นความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับผลกระทบต่อสุขภาพเป็นสิ่งจำเป็นอย่างมากสำหรับการพัฒนากำหนดนโยบายหรือมาตรการต่าง ๆ ที่เหมาะสมเพื่อป้องกันการเจ็บป่วยจากมลพิษทางอากาศในอนาคตต่อไป
สำหรับขั้นตอนการดำเนินงานของโครงการวิจัย (TAPHIA) จะเริ่มดำเนินการเก็บรวบรวมข้อมูลที่มีอยู่เกี่ยวกับความเข้มข้นของมลพิษทางอากาศ ข้อมูลประชากร รวมไปถึงสถิติการการเจ็บป่วยและการตาย นอกจากนี้เราจะเก็บรวบรวมข้อมูลใหม่ ๆ ที่เกี่ยวกับมลพิษทางอากาศทั้งภายในและภายนอกอาคารที่พักอาศัย ในเขตเมืองและเขตชนบท รวมถึงข้อมูลเกี่ยวกับรูปแบบของกิจกรรมการใช้เวลาของกลุ่มตัวอย่างประชากรไทยโดยใช้แบบสอบถาม ดำเนินการทบทวนและตรวจสอบหลักฐานทางวิทยาศาสตร์ที่เกี่ยวข้องกับความสัมพันธ์ระหว่างสารมลพิษทางอากาศและสุขภาพเพื่อหาความสัมพันธ์ทางคณิตศาสตร์ที่เหมาะสม ที่สามารถนำมาใช้ในการพยากรณ์ผลกระทบจากการได้รับสัมผัสสารมลพิษทางอากาศในระยะยาวต่อสุขภาพของประชากรไทย นอกจากนี้เราจะจัดทำแบบจำลองการรับสัมผัสมลพิษของประชากรไทยโดยอาศัยข้อมูลที่มีอยู่ ผลกระทบต่อสุขภาพจะแสดงเป็นจำนวนปีที่เสียชีวิตก่อนวัยอันควร และจำนวนปีของประชากรทั้งหมดที่สูญเสียไปจากโรคและการบาดเจ็บ (Disability-Adjusted Life Years-DALYs) ทีมวิจัยจะรวบรวมข้อมูลโรคเรื้อรังต่าง ๆ
ที่เป็นผลมาจากมลพิษทางอากาศ และโรคอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องกับมลพิษทางอากาศ ที่สำคัญ โดยทีมงานจะพยายามอธิบายถึงความไม่แน่นอนของปัจจัยทั้งหมดที่เกี่ยวข้องกับการคำนวณ เพื่อให้สามารถแสดงผลการประเมินในแง่ของแนวโน้มการเกิดผลกระทบแทนที่จะเป็นค่าเดี่ยว ซึ่งวิธีการนี้เป็นวิธีการใหม่ที่จะช่วยให้สามารถระบุแหล่งที่มาของความไม่แน่นอนในการประมาณการ และให้คำแนะนำในการปรับปรุงข้อมูลสำหรับการประเมินผลในอนาคต สิ่งสำคัญประการหนึ่งของโครงการนี้คือการมีส่วนร่วมกับผู้มีส่วนได้เสียในหลายภาคส่วนของประเทศไทยในช่วงแรกของการดำเนินงาน เพื่อให้แน่ใจว่าเราได้คำนึงถึงมุมมองที่หลากหลายและเข้าถึงข้อมูลที่เกี่ยวข้องทั้งหมดได้ นอกจากนี้เรายังจัดตั้งคณะกรรมการที่ปรึกษาโครงการเพื่อช่วยสนับสนุนการทำงานของเรา และในช่วงท้ายของโครงการหลักจากการวิเคราะห์ข้อมูลต่าง ๆ เราได้วางแผนที่จะร่วมมือกับกลุ่มผู้มีส่วนได้ส่วนเสียข้างต้น เพื่อเริ่มต้นการพูดคุยเกี่ยวกับกลยุทธ์ หรือมาตรการต่าง ๆ ในทางปฏิบัติที่เป็นไปได้เพื่อลดความเสี่ยงในการรับสัมผัสกับมลพิษทางอากาศในอนาคต
ติดตามเราได้ที่Facebook และ Twitter โดยสื่อสังคมออนไลน์ของเราจะมีทั้งภาษาอังกฤษและภาษาไทย